วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557

บทความ ของเล่นจากธรรมชาติ...ภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น


http://www.healthygamer.net/information/article/12243


ของเล่นจากธรรมชาติ...ภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น



ภูมิปัญญาของครอบครัวที่น่าสนใจอย่างยิ่งอันหนึ่งก็คือ ภูมิปัญญาของการนำเอาของธรรมชาติมาดัดแปลงเป็นของเล่นให้เด็กๆ ซึ่งนอกจากสนุกแล้วยังเป็นบทเรียนล้ำค่าสอนลูกหลานอีกด้วย



การได้มาทำงานโครงการครอบครัวเข้มแข็ง ทำให้ ’คนหัวเก่า’ ได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาในวงจรชีวิต ซึ่งนักวิจัยในโครงการครอบครัวเข้มแข็งในพื้นที่ได้ศึกษาโดยใช้เครื่องมือวิจัยภูมิปัญญาในวงจรชีวิต ลงศึกษาภูมิปัญญาครอบครัวตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายว่ามีภูมิปัญญาอะไรบ้าง ทำให้ได้พบว่าสมัยก่อนชีวิตของเด็กๆ คงมีความสุขที่สุด (ยิ่งถ้าเทียบกับเด็กเมืองหลวงอย่าเราๆ ) เพราะชีวิตของเด็กๆ สมัยก่อนโดยเฉพาะในชนบทส่วนใหญ่จะอยู่กับการเล่น เล่นอยู่กับเพื่อนท่ามกลางอ้อมกอดของธรรมชาติ และของเล่นที่ได้จากธรรมชาติแทบทั้งนั้น



นอกจากเฮือนน้อย (ทางอีสาน) หรือการเล่นขายของ ซึ่งเด็กๆ จะเอาใบไม้ใบหญ้ารอบตัวมาแทนของซื้อของขายแล้ว ยังมีการละเล่นอีกมากมายที่เด็กๆ ในสมัยก่อนนำธรรมชาติมาดัดแปลงเป็นของเล่น คนหัวเก่าขอยกบางตัวอย่างซึ่ง อ.สมคิด ทองสง หัวหน้าคณะทำงานครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดพัทลุง ได้รวบรวมเก็บไว้ในงานวิจัยเกี่ยวกับภูมิปัญญาของชุมชนคนทางใต้ มานำเสนอให้คุณผู้อ่านนึกภาพตามพอหอมปากหอมคอค่ะ



เดินกะลา เด็กๆ จะเอาเชือกเส้นหนึ่งยาวประมาณ 1 วา ร้อยกะลามะพร้าว 2 อัน แล้วคนเล่นจะขึ้นไปยืนบนกะลามะพร้าว โดยใช้นิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้หนีบเส้นเชือกเอาไว้ทั้ง 2 เท้า (เหมือนกับหนีบรองเท้าฟองน้ำ) ตอนเริ่มเล่น ทุกคนจะยืนอยู่ที่เส้น พอได้ยินเสียงสัญญาณให้รีบเดินไปที่เส้นชัย ใครถึงก่อนถือว่าชนะ ด้วยของเล่นที่ดัดแปลงง่ายๆ นี้ เด็กกลับได้ฝึกเรื่องการทรงตัว ฝึกกล้ามเนื้อแขน ขา ให้แข็งแรง ไปพร้อมกับความสนุกสนาน



ปี่ซังข้าว โดยใช้ซังข้าว เอามาทำเป็นปี่ เพื่อเป่าให้เกิดเสียง ซึ่งแต่ละอันก็จะให้เสียงที่แตกต่างกันไป เด็ก ๆ จะได้ความสนุกสนานจากการหัดทำ ฝึกสังเกตขนาดและความยาวของซังข้าวกับเสียงที่จะได้ ถือเป็นการพัฒนาสมองอย่างหนึ่ง และยังทำให้ปอดใหญ่อีกด้วย ปี่ซังข้าวนี้สามารถเล่นได้เพียงปีละครั้ง คือช่วงเวลาเกี่ยวข้าว ดังนั้นสิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือเด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตของตนเอง จากการช่วยงานที่พ่อแม่ทำอีกด้วย



ชนวัว เป็นการนำดินมาปั้นเป็นวัว แล้วนำไปตากแดด เมื่อแห้งแล้วก็นำวัวของตนเอง มาใส่ในผ้าขาวม้า ที่เจ้าของวัวทั้งคู่จะต้องจับปลายผ้าขาวม้าไว้คนละข้าง และดึงผ้าขาวม้านั้นให้ตึง ทำให้เหมือนเป็นสนามชนวัว จากนั้นก็ผลัดกันเอียงผ้าข้าวม้า เพื่อให้วัวในสนามทั้งสองตัวได้ชนกัน และถ้าวัวของใครเสียหายก่อนคนนั้นถือว่าแพ้ แค่ทำให้วัววิ่งเข้าหากัน ชนกัน ทำให้เด็กสนุกสนานแล้ว เด็กเองก็ได้เรียนรู้เรื่องการแพ้ชนะ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะทำให้เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งทางความคิดได้อย่างดี



รถลากกาบหมาก วิถีชีวิตคนไทยสมัยก่อนใกล้ชิดกับต้นหมากอยู่แล้ว ต้นหมากเองจะผลัดกิ่งก้านเสมอ เมื่อแก่ก็จะหลุดมาทั้งกาบที่หุ้มด้วย กาบนั้นจะมีลักษณะโค้งโอบขึ้นมา ซึ่งเด็กก็จะสามารถขึ้นไปนั่งได้ สามารถใช้เป็นรถลากได้อย่างวิเศษ เวลาเล่นคนนั่งจะต้องคอยจับขอบของกาบหมากให้แน่น ส่วนคนลากจะจับตรงปลายที่มีใบ แล้ววิ่งไปจนเหนื่อย ก็จะผลัดมาเป็นคนนั่งบ้าง สร้างความสนุกสนานไปพร้อมกับการฝึกเรื่องของความเสียสละ และไม่เอาเปรียบกัน เพราะหากเป็นคนนั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ยอมลากให้เพื่อนนั่งบ้าง แค่รอบสองรอบก็คงไม่มีใครเล่นด้วยแล้ว



นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ จากการละเล่นมากมายของเด็กสมัยก่อน ซึ่งภูมืปัญญาเรื่องนี้ทำให้ ’คนหัวเก่า‘ มองเห็นภาพสะท้อน 2 ภาพอย่างชัดเจน ภาพแรกคือ เด็กๆ สมัยก่อนได้เรียนรู้จากการเล่นอย่างมาก เพราะการละเล่นที่เห็นล้วนต้องเล่นกับเพื่อนแทบทั้งสิ้น และนั่นจึงเปรียบเสมือนห้องเรียนวิชาสังคมว่าด้วยเรื่องของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เด็กจะได้เรียนรู้การปรับตัวเข้าหากัน การอยู่ร่วมกับเพื่อน ซึ่งไม่สามารถจะเอาแต่ใจ ยึดถือความต้องการของตนเองเพียงฝ่ายเดียว เพราะจะไม่มีคนเล่นด้วย เด็กก็ได้เรียนรู้ว่าตนจะต้องเสียสละให้เพื่อนบ้าง รู้จักคำว่าแพ้บ้าง อันจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ ทบทวนตนเองเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ห้องเรียนห้องใหญ่นี่เองที่จะสอนให้เจ้าหนูตัวน้อยทั้งหลายสะสม และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่กอปรด้วยความดี และวุฒิภาวะมากพอจะให้เด็กรุ่นหลังยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจ



ส่วนภาพที่สองก็คือ ชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างมาก และเข้าใจดัดแปลงธรรมชาติรอบตัวมาเป็นของเล่นไปพร้อมกับการเรียนรู้ และอยู่กับธรรมชาติอย่างอ่อนน้อม สังเกตว่าของเล่นเหล่านั้นล้วนเป็นของที่เหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็นกะลามะพร้าว หรือใบไม้ที่ผลัดแล้วอย่างกาบหมาก ซึ่งในที่สุดสิ่งเหล่านี้จะซึมซับเข้าไปในมโนสำนึก ก่อเกิดเป็นความรัก หวงแหน และเห็นคุณค่าของธรรมชาติรอบกาย ส่งผลต่อการดูแลธรรมชาติที่ตนต้องพึ่งพิงอย่างดี



คงน่าเสียดายที่ของเล่นจากธรรมชาติที่ให้มากกว่าความสนุกเหล่านี้จะถูกกลืนหายไป เพราะมีของเล่นไฮเทคฯ สำเร็จรูปแบบใหม่ๆ มาแทนที่ ความละเมียดละไมจากธรรมชาติที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ถือเป็นภูมิปัญญาของครอบครัวที่เราควรจะเก็บรักษา ไม่ให้กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าหรือของโชว์ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น....มิใช่หรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น