วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557

บทความสื่อ: ประโยชน์ของนิทาน เพลง คำคล้องจอง

http://www.la-orutis.dusit.ac.th/research4.php


บทความสื่อ: ประโยชน์ของนิทาน เพลง คำคล้องจอง


โดย: สดใส โชติกเสถียร

จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้อยู่ที่สมอง
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้เชื่อว่าหลายคงเคยได้ยินเรื่องสมองมาบ้าง คนส่วนใหญ่ชอบเปรียบเทียบว่า สมองของเด็กเมื่อครบกำหนดคลอดเปรียบเสมือนฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นฮาร์ดแวร์ที่มีคุณภาพต่อเมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งแวดล้อมเปรียบเสมือนซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมนั่นเอง สมองของเด็กจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี ซึ่งจะทำให้สมองมีการสร้างเส้นใยประสาทและจุดเชื่อมต่อขึ้นอีกจำนวนมากมาย ยิ่งสมองมีการสร้างเส้นใยประสาทและจุดเชื่อมต่อมากขึ้นเท่าไหร่ เด็กก็จะฉลาดขึ้นมีความสามารถมากขึ้นเท่านั้น

สมองเริ่มพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์และพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกเดือนของระยะตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์เริ่มเข้าสู่เดือนที่ห้าโครงสร้างแต่ละส่วนของสมองเริ่มสมบูรณ์ ผิวของทารกไวต่อการสัมผัส ทารกเริ่มควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ ในเดือนที่หกและเจ็ดสมองมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจำนวนเซลสมอง ใยสมองและจุดเชื่อมต่อเพิ่มมากขึ้น แต่ผิวสมองยังไม่มีรอยหยักยังคงราบเรียบ เข้าสู่ระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์สมองเริ่มมีรอยหยักมากขึ้นเพื่อรับข้อมูล เซลล์สมองและวงจรประสาททำงานประสานกันอย่างสมบูรณ์

ในปัจจุบันมีข้อมูลความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของสมองกับการพัฒนาเด็ก สมองแต่ละส่วนจะทำหน้าที่ต่างกัน อาทิ สมองส่วนหลังจะเป็นส่วนที่ควบคุมการมองเห็น สมองส่วนกลางควบคุมเรื่องการฟัง การรับรู้กลิ่นและการสัมผัส สมองส่วนหน้าควบคุมการเคลื่อนไหว และการคิด กล่าวก็คือสมองควบคุมประสาทสัมผัสทั้งห้าหรือประสาทรับรู้ขั้นพื้นฐานนั่นเอง เก้าเดือนของการตั้งครรภ์ประสาทสัมผัสด้านต่างๆก็เริ่มพัฒนา และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สมองส่วนใดพัฒนาเมื่อไหร่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรู้ เนื่องจากการตอบสนองการกระตุ้นสมองในช่วงที่กำลังพัฒนาจะยิ่งทำให้ใยประสาทส่วนที่ได้ใช้หนาตัวขึ้นสมองยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากไม่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมสมองส่วนที่ไม่ได้ใช้ก็จะถูกตัดทอนลง 

ช่วงเวลาใดที่สมองพัฒนา
ทารกสามารถรับรู้รส เมื่อ 14 สัปดาห์ในครรภ์ ความสามารถด้านการฟังเริ่ม เมื่อ 16 สัปดาห์ 20 สัปดาห์ในครรภ์สามารถตอบสนองต่อเสียงนอกมดลูก สัปดาห์ที่ 24 เริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก 28 สัปดาห์เริ่มมีปฎิกิริยาต่อแสงและความสามารถด้านการจำก็เริ่มพัฒนาขึ้นด้วย ถ้าใครเคยมีประสบการณ์ในการตั้งครรภ์ต้องเคยได้รับคำแนะนำจากคุณหมอเช่นเดียวกับผู้เขียน และขอถือโอกาสเล่าให้คนที่ไม่มีประสบการณ์ฟังถึงสิ่งที่คุณหมอแนะนำ คือ ให้พ่อแม่หมั่นพูดคุยกับทารกในท้อง เปิดเพลง หรือร้องเพลงให้ทารกฟังเป็นประจำ เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการฟัง ในช่วงนั้นเวลาขับรถ ผู้เขียนก็จะเป็นเปิดเพลงบรรเลงที่มีจังหวะและทำนองทำให้ตนเองเพลิดเพลินไม่ง่วง ช่วงเย็นหลังเลิกงานเป็นเวลาที่ต้องการพักผ่อนก็จะฟังเพลงบรรเลงกีต้าร์คลาสสิกเบาๆ พอประมาณ เดือนที่ 7 ก็มีกิจกรรมส่องไฟฉาย บริเวณผนังหน้าท้อง ช่วงนี้ครรภ์จะมีขนาดใหญ่ ผนังหน้าท้องขยายทำให้แสงส่องผ่านไปถึงทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการมองเห็นของทารก ปฏิกิริยาตอบสนองว่าทารกมองเห็นคือจะดิ้นหนีแสงไฟที่รบกวน ผู้เขียนทำเช่นนี้จนคลอด และหลังคลอดกิจกรรมยังคงมีอย่างต่อเนื่องคือการฟังดนตรี สิ่งมหัศจรรย์ที่พบคือ ลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่ายกินอิ่มเปิดดนตรีบรรเลงให้ฟังเบาๆ ก็หลับ จะตื่นอีกทีเมื่อหิว นอนหลับช่วงกลางคืนเป็นเวลานานไม่ร้องกวนกลางดึก อีกสิ่งที่ลูกทำได้ตั้งแต่เดือนแรกคือขณะนอนคว่ำสามารถพลิกศีรษะไปทางซ้ายและขวาได้เอง มีพัฒนาการด้านร่างกายเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกันเดินได้เองเมื่อ 10 เดือน เมื่อลูกอายุ 5 ขวบมีทักษะด้านการฟัง จำแนกแยกแยะเสียงที่ได้ยินดีมาก เสียงอะไรเบาๆก็ได้ยิน บางครั้งฟังเพลง 1 – 2 รอบก็สามารถฮัมทำนองเพลงได้ถูกจังหวะ ไม่ผิดคีย์ และหลายครั้งที่ดูหนังซึ่งจะมีเสียงดนตรีประกอบเบาๆไม่มีเนื้อร้อง ซึ่งผู้ใหญ่อย่างเราแทบไม่ได้ยินเนื่องจากไม่ได้สนใจเพราะมีสมาธิอยู่ที่เนื้อเรื่อง แต่ลูกกลับฮัมทำนองตามหรือพูดว่าเพลงนี้หนูเคยได้ยินที่....... ประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนนำมาเล่ายืนยันให้เห็นว่า ประสาทรับรู้ขั้นพื้นฐานถ้าได้รับการกระตุ้นตั้งแต่ในครรภ์จะส่งผลต่อพัฒนาการในวัยต่อมา 

ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง กล่าวว่า ใยประสาทสร้างมาจำนวนมากก่อนการเรียนรู้ ทำให้เรียนรู้ง่าย คือถ้าคนไหนมีเครื่องมือในการรับรู้ที่มีประสิทธิภาพย่อมเรียนรู้ได้อย่างดี หัวใจสำคัญในการพัฒนาเด็กคือทำอย่างไรให้เด็กมีเครื่องมือในการรับรู้ที่มีประสิทธิภาพ สอนอย่างไรให้เด็กเรียนรู้อย่างสนุกเพลิดเพลินสอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย สิ่งที่จะกล่าวต่อไปบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กจำเป็นจะต้องรู้ เนื่องจากการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กควรทำให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองที่ควบคุมพัฒนาการด้านต่างๆ จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดี


สมองส่วนใดทำงานเมื่อไหร่
          0 – 2 ปี สมองที่ควบคุมส่วนการมองเห็น การฟัง การรู้สัมผัส
          3 – 5 ปี สมองที่ควบคุมส่วนภาษา การฟัง การพูด และกล้ามเนื้อเล็ก กำลังพัฒนา 
          6 – 12 ปี สมองควบคุมส่วนพัฒนาการทางสังคม 
          12 – 25 ปี สมองส่วนหน้าสุดควบคุมพฤติกรรมทางสังคม การคิดอย่างมีเหตุผล
เห็นได้ว่า ถ้าจะพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพควรพัฒนาสิ่งที่สอดคล้องกับการรับรู้ของสมอง อาทิ วัย 0 - 2 ปี ถ้าเด็กได้รับการพัฒนาด้านการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการรับรู้สิ่งต่างๆได้แก่ประสาทสัมผัสในการมองเห็น การฟังเสียงจดจำและจำแนกแยกแยะเสียงที่ได้ยิน การับรู้รสชาติ รับรู้กลิ่น และสัมผัสต่างๆ มากเท่าไหร่ก็จะทำให้เด็กมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้สิ่งรอบตัวในวัยต่อมา เรียกได้ว่าเป็นการเปิดประตูสู่ปัญญาให้กับเด็กเลยทีเดียว และเมื่อเด็กได้เตรียมพร้อมด้านการใช้ประสาทรับรู้ขั้นพื้นฐานมาดีพอวัย 3 – 5 ปี เด็กควรได้รับการส่งเสริมด้านภาษา จินตนาการ และการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ควรได้รับการสนับสนุนด้วยกิจกรรมสนุกๆที่ให้เด็กได้เล่น ได้เคลื่อนไหวได้ใช้มือไม้หยิบจับสิ่งต่างๆ รวมทั้งได้ฝึกฝนการใช้ภาษาในการพูดสื่อสารกับบุคคลอื่น ภาษาจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ศาสตร์ด้านอื่น ภาษามิใช่แค่ฟัง พูดเท่านั้น เด็กยังต้องพัฒนาไปสู่การอ่านการเขียน ภาษาจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสติปัญญาของเด็ก ที่กล่าวมาเพียงเพื่อให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาภาษาซึ่งมีลำดับขั้น อีกทั้งวิธีการสอนภาษาให้สนุกเพลิดเพลินและได้ความรู้ไปพร้อมกันในวัยเด็ก ต้องอาศัยสื่อที่เด็กสนใจ เช่น นิทาน เพลง คำคล้องจอง การเล่นบทบาทสมมติ ซึ่งต้องเลือกใช้ให้สอดคล้องกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กแต่ละวัย 

พัฒนาการทางภาษาเริ่มอย่างจริงจังเมื่อไหร่ 
         อายุ 1 - 2 ปี เด็กเริ่มหัดฟังและหัดเลียนเสียงต่างๆที่ได้ยิน เช่น เสียงพ่อ-แม่ เสียงสัตว์ เสียงที่ได้ยินในชีวิตประจำวัน 
         อายุ 2 – 4 ปี เด็กเริ่มเข้าใจสัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย พูดเป็นคำ มีจำนวนคำศัพท์มากขึ้น เริ่มพูดเป็นประโยค มีคำนำหน้ามีคำเชื่อมประโยค 
         อายุ 4 – 5 ปี เริ่มเล่นสนุกกับ สามารถคิดคำ สร้างประโยค ประสมคำ 
         อายุ 5 – 6 ปี เด็กเริ่มใช้ไวยากรณ์อย่างง่าย ใช้ประโยคบอกเล่าประโยคคำถาม ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆรอบตัว ใช้ภาษาสื่อความหมายในสิ่งที่ตนรับรู้ได้อย่างดี 
         6ปีขึ้นไป มีความสามารถทางภาษาเพิ่มขึ้นเข้าใจสำนวนภาษา การพูดเปรียบเทียบ การพูดที่เป็นนามธรรมมากขึ้น 

นิทาน เพลง และคำคล้องจอง สื่อสำคัญในการพัฒนาภาษา 
นิทาน หมายถึง เรื่องเล่า มีการผูกเรื่องราว มีตัวละคร มีเหตุการณ์ในการดำเนินเรื่อง นิทานอาจมีเค้าโครงจากเรื่องจริง จินตนาการ ความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม ปรากฏการณ์ธรรมชาติ มีการแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆในเนื้อเรื่อง 

นิทานสำหรับเด็ก หมายถึง เรื่องราวที่แต่งขึ้นหรือผูกขึ้นเพื่อนำมาเล่าหรือถ่ายทอดสู่เด็ก ด้วยเทคนิกวิธีการต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เฉพาะเจาะจงเพื่อเด็ก นิทานยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการฝึกทักษะ เตรียมพร้อมในการเรียนของเด็กปฐมวัย วัตถุประสงค์ของการเล่านิทานเพื่อการพัฒนาและเตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัยมี ดังนี้ 

         • ตอบสนองความต้องการทางธรรมชาติของเด็ก 
         • ช่วยให้เด็กเกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน มีความสุข ผ่อนคลายอารมณ์เครียด
         • ส่งเสริมให้เด็กมีสมาธิโดยใช้นิทานเป็นสื่อช่วยยืดช่วงความสนใจของเด็กให้นานขึ้น
         • ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ซึ่งอาจแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง
         • ช่วยให้เด็กมีประสบการณ์ทางภาษา เรียนรู้คำศัพท์ใหม่และการใช้ภาษาที่ถูกต้อง
         • เสริมประสบการณ์เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ที่เหมาะสมกับวัย
         • ให้เด็กได้แสดงออก กล้าซักถาม และแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ
         • ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ
         • เตรียมความพร้อมทางภาษาทุกด้านทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน 
         • กระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจหนังสือ คุ้นเคยกับหนังสือ ส่งเสริมให้มีนิสัยรักการอ่าน
         • พัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก เด็กกับเด็ก
         • พัฒนาด้านการคิด สามารถรับรู้สิ่งที่ฟังและถ่ายทอดเรื่องราวที่ฟังให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามวัย
         • ใช้นิทานเป็นสื่อในการลดและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

เห็นได้ว่าความสำคัญของนิทาน มีมากมาย ดังนั้นการอ่าน การเล่านิทาน จึงเป็นกิจกรรมที่มองข้ามไม่ได้สำหรับบุคคลที่ต้องเกี่ยวข้องกับเด็ก อาทิ พ่อแม่ ครู หรือผู้ดูแล วิธีการเล่า การนำเสนอนิทานนั้นต้องคำนึงว่า เล่าอย่างไรเด็กถึงจะสนุก สนใจ เกิดจินตนาการและเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน รวมทั้งเลือกนิทานอย่างไรให้เหมาะกับวัยของเด็กไม่ใช่เรื่องยากแต่เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเท่านั้น

เลือกนิทานให้เหมาะกับวัย 
ทารกในครรภ์นิทานอะไรก็ได้แต่ขอให้เป็นเสียงของพ่อแม่ที่เล่าให้ลูกฟัง หาช่วงเวลาสบายๆที่แม่กำลังพักผ่อน ภาวะจิตใจสงบไม่มีสิ่งรบกวนแล้วเริ่มเล่านิทานให้ลูกฟัง
1-6 เดือนหนังสือนิทานต้องปลอดภัยคำนึงถึงวัสดุที่นำมาทำ เช่น หนังสือผ้านุ่มๆมีสีสันสวยงามสะดุดตา  กระตุ้นสัมผัสของเด็กด้วยวัสดุต่างๆเช่นผ้าสำลี ผ้าสักหลาด ผ้าดิบ หรือใส่วัสดุข้างในให้แตกต่างเมื่อขยำ เขย่าแล้วเกิดเสียง ไม่อันตรายเมื่อเด็กนำเข้าปาก
6- 12 เดือนยังคงต้องเลือกหนังสือที่ทำจากวัสดุที่ปลอดภัยเด็กเริ่มนั่งได้
สนใจมองภาพสีสวยงามชัดเจนไม่ต้องมีรายละเอียดมาก  อาจอุ้มเด็กนั่งฟังนิทานบนตัก หรือช่วงที่เด็กอาบน้ำเป็นช่วงที่เด็กตื่นตัวเลือกเล่านิทานลอยน้ำ(ทำจากพลาสติกหรือยาง) ก็ทำให้เด็กสนใจและเพลิดเพลินได้เป็นอย่างดี
1 - 2  ขวบหน้าหนังสือต้องหนาแข็งแรงคงทน  ไม่ต้องมีตัวหนังสือมากภาพชัดเจนเด็กมองภาพแล้วสามารถรู้เรื่องราว จำนวนหน้าไม่ควรเกิน 10 หน้า เช่น หนังสือชุดรวมเรื่องเอกของโลก สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก  ทุกเล่มจะใช้น้องหมีเป็นสื่อ อาทิน้องหมีสวัสดี น้องหมีขี่เป็นนะ น้องหมีมอมแมม
2 - 3  ขวบนิทานยังคงต้องมีลักษณะที่คงทน  มีเทคนิคพิเศษในเล่มเพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น มีภาพซ่อนอยู่ด้านหลังประตู  มีเสียง  หรือเด็กสามารถหยิบใส่ส่วนประกอบของหนังสือได้ เนื้อเรื่องต้องสั้นมีตัวละครไม่มากเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเด็ก ส่งต่างๆรอบตัว เช่น ครอบครัว เพื่อน การปรับตัว การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง
3 - 4  ขวบเด็กวัยนี้เริ่มเปิดหนังสือได้ทีละแผ่น  สนใจฟังเรื่องราวที่ยาวขึ้น จะเล่าหรืออ่านก็ได้  เนื้อเรื่องต้องเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อนเด็กชอบเรื่องมหัศจรรย์  ยิ่งถ้ามีคำซ้ำๆ เด็กยิ่งสนุกเมื่อได้ฟังหรือพูดตาม เช่นเรื่องแมวยายปุ๋ง สำนักพิมพ์พิมพ์ดี  ยายเช้ากลืนช้าง  บ้องแบ๊ว สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก เป็นต้น นิทานเป็นสื่อที่ดียิ่งสำหรับวัยนี้ที่เริ่มเรียนรู้ว่าตัวหนังสือมีความสำคัญในชีวิตประจำวัน เด็กที่ชอบนิทาน จะเริ่มสนใจการอ่านโดยแรกๆชอบให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง  แล้วจึงอยากอ่านเองบางครั้งเด็กหยิบนิทานที่ชอบมาอ่านเองตามที่เคยได้ฟังมา
5 - 6  ขวบเด็กสนใจและสามารถฟังนิทานที่มีเนื้อเรื่องยาวขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น เข้าใจเนื้อเรื่องเชิงส่งเสริมของคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งเริ่มหัดอ่านสะกดคำง่ายที่คุ้นเคยได้บ้าง  ดังนั้น ขนาดของตัวหนังสือในนิทานต้องไม่เล็ก  เด็กสามารถเห็นได้ชัดเจน มีการเว้นช่องไฟระหว่างคำแต่ละคำ  ตัวอย่างเช่น  หนังสือชุด เสียง สระ แสนสนุก ราชากะฤาษี สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก

เมื่อเลือกนิทานได้เหมาะกับวัยเด็กแล้ว การเล่าการนำเสนอนิทานให้เด็กสนใจ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของผู้เล่า เช่น ลีลา น้ำเสียง ใช้เทคนิกต่างๆประกอบการเล่า 

องค์ประกอบในการเล่านิทานให้สนุก

ลีลาท่าทางของผู้เล่า
ก่อนอื่นผู้เล่าต้องอ่านนิทานและทำความเข้าใจในเนื้อเรื่องมาเป็นอย่างดี จดจำ เนื้อเรื่องได้อย่างแม่นยำ บุคลิกท่าทางของผู้เล่าก็สำคัญต้องดูเป็นกันเองกับผู้ฟังอยู่ในท่าสบายๆ มีจังหวะในการพูดเว้นวรรคตอนให้ดี ใช้เสียงสูงต่ำ ดัง- เบา ให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง ไม่ใช้น้ำเสียงระดับเดียวที่ดูราบเรียบ หรือเสียงแหลมจนไม่น่าฟัง นิทานจะน่าสนใจมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับเทคนิคของผู้เล่า 

การจับหนังสือ
การจับหนังสือควรจับบริเวณรอบพับของเล่มนิทานดัวยมือข้างที่ถนัด จะเป็น ด้านบนหรือด้านล่างของหนังสือก็ได้ ระวังอย่าให้มือไปบังภาพบนหน้าหนังสือ ใช้มืออีกข้างช่วยเปิดหนังสือทีละแผ่น ยกหนังสืออยู่ระดับสายตาผู้ฟัง ไม่เคลื่อนไหวหนังสือไปมาขณะการเล่านิทาน 

การจัดที่นั่งสำหรับผู้ฟัง
ผู้ฟังนั่งหันหน้าหาผู้เล่า ถ้าเป็นกลุ่มเล็กนั่งรวมกันห่างจากผู้เล่าตามความเหมาะสมให้เห็นภาพในหนังสือชัดเจน ไม่นั่งออกไปทางด้านข้างจะทำให้มองไม่เห็นหนังสือ ในกรณีที่ผู้ฟังมาก ให้นั่งหันหน้าหาผู้เล่าเป็นครึ่งวงกลมก็ได้

เทคนิคการเล่านิทาน
การเล่านิทานทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่ เล่านิทานโดยใช้หนังสือ ไม่ใช้หนังสือแต่ใช้อุปกรณ์อย่างอื่นประกอบการเล่า เล่าปากเปล่าหรือใช้ท่าทาง ร้องเพลงประกอบ เล่าโดยใช้หุ่นมือ หุ่นนิ้ว หุ่นชัก เล่าไปวาดไปหรือพับกระดาษ ใช้กระดานหรือแผ่นป้ายสำลีประกอบการเล่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้นิทานน่าสนใจยิ่งขึ้นตัวอย่างการเล่านิทาน

เล่านิทานโดยใช้เพลงประกอบ
นิทานเรื่อง “ ขนมปังกลม กลิ้ง กลิ้ง” สำนักพิมพ์ แพรวเพื่อนเด็ก ผู้เล่าใช้หนังสือประกอบการเล่า พอถึง ช่วงที่ขนมปังกลม ร้องเพลงให้สัตว์แต่ละตัวฟังผู้เล่าก็สามารถใส่ทำนองลงไปแล้วร้องเป็นเพลง หรือให้เด็กมีส่วนร่วมในการเล่าเช่น ถ้าครูพูดคำว่ากลิ้ง หลุน หลุนให้เด็กหมุนมือไปตามเสียงช้าเร็วที่ได้ยิน 

เล่านิทานประกอบการใช้ท่าทางของผู้เล่า และผู้ฟังมีส่วนร่วมในการเล่า
นิทาน เรื่อง “หัวผักกาดยักษ์” สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก เล่าโดยยืนถือหนังสือเมื่อถึงตอนดึงหัวผักกาด ผู้เล่าต้องทำท่าเหมือนกำลังดึงหรือถอนเจ้าหัวผักกาดอย่างเต็มแรง เมื่อถอนไม่ได้ตาจึงเรียกยายมาช่วยในตอนนี้ให้ขออาสาสมัครเด็กหนึ่งคนออกมาเป็นยายจับเอวผู้เล่าแล้วทำท่าช่วยกันดึงเจ้าหัวผักกาด เมื่อถึงตอนตามหลาน ตามหมา ตามแมว ตามหนูมาช่วย ก็ค่อยๆหาอาสาสมัครออกมาจับเอวต่อๆกันจนกระทั่งถอนหัวผักกาดออก 
นิทานเรื่อง “ พระจันทร์อร่อยไหม” สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ครูเล่านิทานประกอบภาพในหนังสือ เมื่อครูเล่านิทานจบ ให้เด็กวาดภาพสัตว์ที่ชอบและนำสัตว์ทุกตัวที่เป็นผลงานเด็ก มาแต่งให้เป็นเรื่องราวเดียวกันภายใต้โครงเรื่องเดิม ครูต้องหาพื้นที่ภายในห้องให้เด็กที่เป็นตัวละครออกมาติดภาพสัตว์ต่อตัวกัน เล่านิทานประกอบการพับ ฉีกกระดาษ หรือวาดภาพ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ เล่าไปวาดไป กับเทคนิคการเล่านิทาน ของสำนักพิมพ์ แพรวเพื่อนเด็ก 
มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับการอ่านหนังสือให้เด็กฟังหลายต่อหลายเล่มพบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการอ่านหนังสือให้ฟังบ่อยๆไม่เพียงแต่จะมีความรู้มีความพร้อมด้านภาษายังทำให้เด็กมีความสามารถด้านการเรียนในภาพรวมของเนื้อหาวิชา การที่ผู้ใหญ่เล่าหรืออ่านนิทานให้ฟังไม่เพียงแต่เป็นการขยายประสบการณ์ หรือเตรียมความพร้อมเด็กเพื่อการอ่านออกเขียนได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเด็กได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนิทาน ทั้งตัวละคร เหตุการณ์ ความหมายของสำนวนภาษาที่ใช้ เกิดการเชื่อมโยงภาษาที่ได้ฟังไปสู่การใช้ในสถานการณ์จริงต่อไป หลังจากเล่านิทานถ้าครูหรือผู้เล่ามีการถามคำถามเลือกระดับคำถาม ให้เหมาะกับพัฒนาการตามวัย พยายามถามคำถามปลายเปิดเพื่อให้เด็กได้คิดหาคำตอบที่หลากหลายได้แก่คำถามประเภท ทำไม อย่างไร ถ้า......จะเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด ฝึกให้เด็กได้เป็นคนตั้งคำถามถามเพื่อนเกี่ยวกับเรื่องราวในนิทาน หรือคิดกิจกรรมให้เด็กได้ทำหลังจากจบนิทานโดยครูใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้นหรือกำหนดสถานการณ์ เช่น ถ้ายีราฟกับจระเข้แต่งงานกันลูกที่ออกมาจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร หรือ บ้านของยีราฟกับจระเข้น่าจะเป็นแบบไหน เป็นต้น เด็กๆมีวิธีการซ่อนสตรอเบอร์รี่อย่างไรโดยไม่ให้เจ้าหมีเห็น กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะด้านการคิดของเด็กได้เป็นอย่างดี

เพลงเด็ก อีกกิจกรรมที่น่าสนใจ
เพลงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เด็กสนใจ โดยเฉพาะเพลงเด็กจะประกอบไปด้วยเนื้อเพลงที่มีสัมผัส มีทำนอง มีจังหวะเร็ว-ช้า บางเพลงเป็นเรื่องราวสั้นๆ ใช้ภาษาง่ายๆ อาจแทรกสิ่งที่เป็นความรู้ เช่น ทักษะ สาระที่เด็กควรรู้ คุณธรรม จริยธรรม และเนื่องจากเพลงเด็กไม่มีเนื้อหาซับซ้อน ทำให้เด็กเรียนรู้ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินเข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อสารในเนื้อเพลงได้ง่าย จดจำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ การใช้เพลงกับเด็ก อาจแค่ร้องเล่น ทำท่าทาง หรือใช้อุปกรณ์อื่นๆประกอบ ได้ ตัวอย่าง เพลง ที่สอดคล้องกับเรื่องตัวเด็ก 

เพลง หัว ไหล่ เข่า เท้า ( แตะส่วนต่างๆของร่างกาย )
     หัวและไหล่ และเข่าและเท้า เข่าและเท้า เข่าและเท้า 
     หัวและไหล่ และเข่าและเท้า ตา หู จมูก ปาก

เพลง กระโดด ( ทำท่าทางประกอบ )
     กระโดด กระโดด กระโดด กระโดดฉันโปรดมากมาย 
     กระโดด แล้วแสนสบาย ดีใจ ที่ได้กระโดด 
     ลัล ลัล ลา ลัล ลัล ลา ลัล ลัล ลา 
     ลัล ลัล ลา ลัล ลัล ลา ลัล ลัล ลา 
การเลือกใช้เพลงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมของครูจะใช้ในขั้นสอนหรือขั้นนำตามความเหมาะสม นอกจากเพลงแล้วกิจกรรมภาษาที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ยังมี ปริศนาคำทาย และ คำคล้องจอง ซึ่งเป็น คำประพันธ์ มีลักษณะสัมผัสคล้ายโคลงกลอน แต่ใช้ถ้อยคำง่ายๆมีความยาวไม่มาก มีเนื้อหาสาระ คำคล้องจองเป็นกิจกรรมที่ช่วยเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้แก่เด็กได้เป็นอย่างดี ทั้ง การฟัง การพูด การอ่าน เด็กจะได้เรียนรู้คำที่มีการสัมผัส การพูดคำคล้องจองเป็นวรรคตอนโดยใช้ระดับเสียงสูงต่ำ ดังเบา ทำให้เด็กจดจำคำได้แม่นยำ เด็กปฐมวัยจะพูดคำคล้องจองอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้นถ้าได้ทำเสียงหรือท่าทางประกอบ ในเด็กวัย 5 - 6 ปี ครูสามารถเขียนเนื้อหาคำคล้องจองบนชาร์ทขนาดใหญ่ที่เด็กเห็นได้ชัดเจนเพื่อให้เด็กอ่านประกอบ เด็กจะได้ฝึกการเคลื่อนสายตา รู้ความหมายของคำ เป็นการสร้างประสบการณ์ด้านการอ่าน การเดารูปคำ และการเรียงประโยคให้แก่เด็ก จะใช้คำคล้องจองเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของครูเช่น ใช้เพื่อเก็บเด็ก(เตรียมเด็กให้สงบ)ก่อนหรือระหว่างการปฏิบัติกิจกรรม, ใช้เป็นสื่อ ใช้เพื่อพัฒนาภาษาและความจำ , ใช้เพื่อความสนุกสนาน ,ใช้เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ เป็นต้น

จากข้อมูลและตัวอย่างข้างต้นพอสรุปได้ว่า นิทาน เพลง คำคล้องจอง เป็นสื่อสำคัญในการพัฒนาภาษาที่เหมาะกับเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่งเพราะกิจกรรมนิทาน เพลง คำคล้องจองทั้งสนุก น่าสนใจชวนให้ติดตาม ขณะที่เด็กฟัง ร้องเล่นทำท่าประกอบตาม ทำให้เด็กเพลิดเพลิน เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาในอนาคต ในฐานะครูผู้สอนจำเป็นที่จะต้องหมั่นฝึกฝนตนเองให้เป็นนักเล่า นักร้อง สั่งสมเทคนิคต่างๆ ระยะแรกอาจใช้วิธีดูตัวอย่างจากผู้มีประสบการณ์แบบเก็บเล็กผสมน้อย รู้จักนำกิจกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตัวผู้เล่าเอง 

ข้อมูลอ้างอิง

กิติยวดี - อัญญมณี บุญซื่อ. (2549).สอนภาษาอย่างไรให้ลูกเก่ง . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สาราเด็ก.

ปรีดา ปัญญาจันทร์. (2542). คู่มือเล่านิทานเล่ม 1 เล่านิทานอย่างไรให้สนุก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก.

เยาวพา เดชะคุปต์ . (2551).เอกสารประกอบการอบรม เทคนิกการสอนภาษาเด็ก ปฐมวัย . กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

รักลูกแฟมิลี่กรุ๊ป . ( 2549 ). คู่มือพัฒนาสมองของลูก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ พิมพ์ดี .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น